วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

คำนำหนังสือแนวสอนจรรยาในโรงเรียนนายร้อยทหารบก (พ.ศ. 2470)

คำนำ
       หนังสือแนวสอนจรรยาในโรงเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อพ.ศ. 2470 กรมยุทธศึกษาทหารบกได้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง  เป็นผู้เรียบเรียงขึ้น  สำหรับใช้ในการสอนและอบรมจรรยาทหาร  แก่นักเรียนในกองโรงเรียนนายร้อยทหารบก  แต่เนื่องจากหนังสือเล่มนี้ อธิบายหลักธรรมในพระพุทธศาสนาอย่างแจ่มแจ้ง กะทัดรัด  ไม่ใช้ถ้อยคำฟุ่มเฟือย  จึงเป็นที่นิยมของโรงเรียนอื่นๆในสมัยนั้น  และได้นำมาใช้สอนนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย  ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าชั้นมัธยมปีที่ 7-8 เพิ่งมายกเลิกเสียเมื่อมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตรวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม
       หนังสือนี้แบ่งออกเป็น 5 ภาค คือ
ภาคที่ 1 พระพุทธศาสนา อธิบายใจความของพระพุทธศาสนา  พระรัตนตรัย  เบญจศีล วิรัติ และเบญจกัลายณกรรม 
ภาคที่ 2 ธรรมโดยประสงค์  ได้แก่ อกุศลมูล กุศลมูล โลกธรรม 8  อิทธิบาท 4 สัปปุริสธรรม และ สัตตสัทธรรม เป็นต้น
 ภาคที่ 3 ฆราวาสธรรม (ธรรมของผู้ครองเรือน)  ได้แก่  ทิฏฐธัมมิกประโยชน์  อบายมุข  วิธีการปกครอง  ครองตน  ครองคน  ครองสมบัติ  เป็นต้น 
ภาคที่ 4 ธรรมเกี่ยวกับหน้าที่  เช่น หน้าที่พลเมือง  ความสัตย์สุจริตหลักของผู้มีหน้าที่ในราชการทหาร ฯลฯ 
ภาคที่ 5 ธรรมรอบตัว  ซึ่งเป็นธรรมที่ผดุงรักษาความสงบสุขในหมู่มนุษย์  เช่น  ความเมตตา  กรุณา  ความเป็นผู้ดี  มิตร  และการคบมิตร  ความจงรักในชาติ  ศาสนา  พระมหากษัตริย์  รัฐธรรมนูญ (ตอนนั้นพ.ศ. 2470 ยังไม่มี)  และความสามัคคี  เป็นต้น  นับว่าได้คัดเลือกธรรมทั้งหมดที่คนเราพึงทราบ  แม้ในตอนท้ายเล่มซึ่งว่าด้วยหลักของผู้มีหน้าที่ในราชการก็ประกอบด้วยหลักธรรม  ซึ่งบุคคลทั่วไปก็น่าจะประพฤติปฏิบัติ เช่น  ไม่ทำการคดโกง  ไม่กลับคำสัญญาที่ตนได้ให้ไว้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด  มีความองอาจกล้าหาญไม่ย่นย่อต่ออุปสรรคหรือภยันตรายอันเป็นที่หวาดหวั่น  กล้าหาญในทางที่ชอบ  คิดถึงประโยชน์ของมหาชนมากกว่านึกถึงตน  เป็นต้น
         การเรียบเรียงเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้  เป็นไปตามลำดับขั้นตอน  ผู้เรียบเรียงใช้ถ้อยคำอย่างประหยัด  กะทัดรัด  และใช้คำง่ายๆ  ยกตัวอย่างประกอบพอควรแก่การเข้าใจ  จึงเป็นหนังสือที่น่าอ่าน  และอ่านได้จบในเวลาจำกัด  น่าเสียดายที่ไม่ได้มีการพิมพ์อีกในระยะหลัง  ในตอนแรกพิมพ์ออกใช้ในโรงเรียนนายร้อยทหารบก  ปรากฏว่าสถานศึกษาอื่นๆก็นิยมนำไปใช้มีการพิมพ์ใหม่ถึง 5 ครั้ง  ภายในเวลา 8 ปี (พ.ศ. 2478)  เป็นจำนวนกว่า 15,000 เล่ม
       เมื่อหม่อมเจ้าวงศานุวัตร  เทวกุล  แสดงพระประสงค์มายังหอสมุดแห่งชาติว่า  จะทรงพิมพ์หนังสือเป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงพระศพหม่อมเจ้ากมลปราโมทย์ พระชายา  และทรงประสงค์จะได้หนังสือเกี่ยวแก่หลักธรรมทางพุทธศาสนา  ขอให้ช่วยคัดเลือกหนังสือที่สมควรให้สักเล่มเพื่อจัดพิมพ์  ทางหอสมุดแห่งชาติจึงได้ขออนุญาตจัดพิมพ์จากกรมยุทธศึกษาทหารบก   เป็นที่น่ายินดีที่หนังสือเล่มนี้ได้รับการจัดพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง  ทำให้ได้อ่านกันแพร่หลาย  การบำเพ็ญพระกุศลครั้งนี้เป็นที่น่าอนุโมทนายิ่งนัก

โดย แม้นมาส  ชวลิต
หอสมุดแห่งชาติ
อนุญาตให้พิมพ์หนังสือเมื่อ 29 มีนาคม 2519
แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้ากมลปราโมทย์ เทวกุล ท.จ.ว.
ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส
วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2519

โครงการจ้างเหมารวบรวมเอกสารพระปกเกล้าศึกษา โดยคณะนักจดหมายเหตุ

เอกสารจดหมายเหตุคือเอกสารที่หน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชนผลิตขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการปฏิบัติงาน   วงจรของเอกสารเกี่ยวพันกับหน่วยงานและองค์ก...